9/29/2553

การฝากครรภ์

พาคุณแม่ไปฝากครรภ์ article

  เมื่อ ทราบแน่ชัดแล้วว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ โดยไม่ควรเกิน 3 เดือนนับจากวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าครรภ์ปกติและลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้กับคุณแม่
  • ชั่ง น้ำหนัก เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่ อย่ากังวลหากน้ำหนักจะลดลงบ้างใน 3 เดือนแรก ซึ่งมักมาจากอาการแพ้ท้อง และหากน้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้
  • วัดส่วนสูง การฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการวัดส่วนสูง เพื่อเป็นตัวบอกคร่าวๆ ถึงลักษณะของเชิงกราน ถ้าเล็กอาจทำให้คลอดยากได้
  • วัด ความดันโลหิต ความดันโลหิตของคุณแม่อาจลดต่ำลงบ้างในระหว่างตั้งครรภ์ แต่หากมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเครียด กังวล
  • ตรวจ เลือด ครั้งแรกจะมีการตรวจเลือดเพื่อหากรุ๊ปเลือดและ Rh กรุ๊ป ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะตรวจซ้ำอีกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์ ตรวจภูมิต้านทานหัดเยอรมัน ตรวจว่าไม่มีโรคทางเพศสัมพันธ์ และดูลักษณะเม็ดเลือดผิดปกติบางชนิด
  • ตรวจ ปัสสาวะ เพื่อตรวจน้ำตาล หาภาวะเบาหวาน ตรวจว่ามีโปรตีนในปัสสาวะหรือไม่ เพราะถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบโปรตีนในช่วงหลังๆ ของการตั้งครรภ์ อาจพบว่าเกิดจากครรภ์เป็นพิษได้
  • ตรวจ ภายใน ในครั้งแรกเพื่อให้แน่ใจถึงระยะเวลาการตั้งครรภ์ และตรวจปากมดลูกว่าปิดสนิทดี และอาจตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่
  • ซัก ประวัติเกี่ยวกับการขาดประจำเดือน อาการแพ้ท้อง เด็กดิ้น ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดครั้งก่อนๆ ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัว การแพ้ยาต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดูแลระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด
  • การตรวจครรภ์อย่างละเอียด และคาดคะเนกำหนดคลอด
  • ให้คำแนะนำ หรือตอบปัญหาต่างๆ ที่คุณแม่เจอในระหว่างตั้งครรภ์ และอาจสั่งยาบำรุง หรือยาอื่นๆ ที่จำเป็น
 สำหรับ ระยะเวลาที่คุณแม่ควรกำหนดในการตรวจตลอดการตั้งครรภ์ คือ ตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกจนถึง 7 เดือน ควรไปตรวจเดือนละครั้ง ระหว่าง 7-8 เดือนควรไปตรวจทุก 2 สัปดาห์ และเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ควรไปตรวจทุกสัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการครรภ์ผิดปกติ ก็ควรไปพบหมอให้บ่อยกว่าที่กำหนด

เลือกกุมารแพทย์ให้ลูก
โดย ปกติ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะสอบถามเพื่อนฝูง คนรู้จัก เพื่อขอคำแนะนำในการฝากครรภ์ว่าควรจะฝากที่ไหน  แพทย์คนใด  แต่ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่า หลังจากคลอดแล้ว แพทย์ที่จะดูแลลูกต่อจากนั้นไม่ใช่สูติแพทย์ท่านเดิมแล้วค่ะ   จะต้องเปลี่ยนเป็นกุมารแพทย์  ฉะนั้นก่อนคลอดควรสอบถามและเลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เป็นกุมารแพทย์ ประจำตัวลูกนะคะ  (ถ้าก่อนคลอด คุณแม่ไม่ได้ระบุว่าต้องการกุมารแพทย์ท่านใด ทางโรงพยาบาลจะจัดให้เองค่ะ)     
แม้ ว่าแพทย์และพยาบาลทุกท่านจะพูดตรงกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ก็ไม่ใช่ว่าแพทย์หรือพยาบาลทุกท่านจะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง    ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต่อเมื่อกรณีนั้นไม่มีปัญหา   แต่ถ้าหากมีปัญหาเมื่อใด ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้หย่านม หรือใช้นมผสมช่วย   แพทย์หรือพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างแท้จริง จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาให้คุณแม่ เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดำเนินต่อไปได้
ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตว่าแพทย์หรือพยาบาลท่านนั้น ไม่ได้  สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างจริงจัง
1. แพทย์ท่านนั้นให้นมผสมที่แจกฟรีเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเอกสารแนะนำคุณสมบัติของนมผสมยี่ห้อนั้นๆ แก่คุณ
การ แจกตัวอย่างนมผสมผ่านโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นสุดยอดการตลาดที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณแม่ทั้งหลายว่านมผสมนั้น ดีไม่แพ้นมแม่  ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
2.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมหรือนมแม่ก็เหมือนๆ กัน
แม้ ว่าทารกที่กินนมผสมหรือกินนมแม่ ต่างก็เจริญเติบโตได้เหมือนๆ กัน  ไม่ได้หมายความว่า นมผสมจะเหมือนกับนมแม่ทุกประการ  มีส่วนประกอบหลายชนิดที่มีในนมแม่  แต่ไม่มีในนมผสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิคุ้มกันและเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อโรคของทารก 
3. แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมยี่ห้อ XXX ดีที่สุด
4.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า ไม่จำเป็นต้องรีบพาลูกมาดูดนมทันทีหลังคลอด เพราะคุณแม่ควรจะพักผ่อน
แม้ จะไม่จำเป็นจริงๆ  แต่การนำลูกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างราบรื่น  เพราะการกระตุ้นเร็ว  น้ำนมก็จะมาเร็ว
5.แพทย์ ท่านนั้นบอกกับคุณว่า เด็กทารกไม่มีปัญหากับการสับสนในการดูดนมแม่หรือนมขวดหรอก ควรจะหัดให้ดูดขวดเร็วๆ ลูกจะได้ไม่ปฏิเสธขวดในภายหลัง
การ ดูดนมแม่และดูดขวดนั้นมีลักษณะการดูดที่แตกต่างกัน การดูดขวดนมนั้น น้ำนมจะไหลเร็วตลอดเวลา โดยที่ลูกไม่ต้องออกแรงมาก ทำให้ลูกเคยชินกับการดูดขวดนมได้ง่าย เพียงแค่ให้ดูดครั้งหรือสองครั้ง หลังจากนั้นลูกจะปฎิเสธการดูดนมแม่ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า
6. แพทย์ท่านนั้นแนะนำให้คุณหยุดให้นมลูก เมื่อคุณหรือลูกไม่สบาย
ใน ความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณหรือลูกป่วย มีน้อยกรณีมากที่จะไม่สามารถให้นมต่อได้  ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร มียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ โดยไม่กระทบกับการให้นมลูกของคุณ  หากได้รับคำแนะนำให้หยุดให้นมลูกจากแพทย์ท่านใด  แสดงว่าแพทย์นั้นไม่เห็นความสำคัญของ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ขอให้สงสัยไว้ก่อน และลองปรึกษาแพทย์คนใหม่ดู  
7. แพทย์ท่านนั้นพูดหรือแสดงอาการแปลกใจว่า ทำไมคุณยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่  ทั้งๆ ที่ลูกอายุตั้ง 6 เดือนแล้ว
8.แพทย์ท่านนั้นบอกว่าหลังจาก 6 เดือน นมแม่ไม่มีประโยชน์แล้ว
ไม่ ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน นมแม่ก็ยังเป็น นม เหมือนเดิม มีไขมัน โปรตีน พลังงาน วิตามินและภูมิคุ้มกัน ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับทารกได้เหมือนเดิมทุกประการ
9.แพทย์ท่านนั้นแนะนำว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาอกแม่
ถ้า ลูกหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนมแม่ก็เป็นเรื่องดี  แต่การที่ลูกหลับคาอกแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรทำ  กลับเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลินเสียด้วยซ้ำ  ลูกก็หลับ แม่ก็ได้พักผ่อน อบอุ่นกันทั้งแม่ทั้งลูก 
ย่อความจาก How to Know a Health Professional is not Supportive of Breastfeeding  By Jack Newman, MD, FRCPC

9/24/2553

Become Mom


เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ article

เมื่อ คิดจะมีลูก การเตรียมตัวให้พร้อมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทั้งคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อให้ลูกน้อยสมบูรณ์และเป็นปกติที่สุด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนประมาณ 3 เดือน เพราะในสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์ คุณอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ และเป็นช่วงเวลาที่กระทบกระเทือนต่อลูกในครรภ์ได้ง่ายที่สุดด้วย โดยเฉพาะคุณแม่ การรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงและกินอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังควรเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วย
วัคซีนหัดเยอรมัน คุณ แม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์ เพราะหัดเยอรมัน หรือ Rubella นั้นอาจทำให้ลูกน้อยในครรภ์พิการได้ โดยเฉพาะในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกน้อยกำลังสร้างอวัยวะภายในที่ซับซ้อน ถ้าหากแพทย์พบว่าคุณยังไม่มีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันก็จะฉีดวัคซีนให้ แต่คุณควรจะคุมกำเนิดหลังจากฉีดวัคซีนนี้อย่างน้อยอีก 3 เดือน

โรคทางพันธุกรรม  หากครอบครัวของคุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติการเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทาง พันธุกรรม เช่น ฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด ทาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจาง เป็นต้น ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคทางพันธุกรรม ได้มากน้อยแค่ไหน

โรคประจำตัว  หากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือลมชัก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อปรับเปลี่ยนยา และเตรียมพร้อมในการดูแลที่มากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์

หยุดใช้ยาคุมกำเนิด  หากต้องการมีลูกควรหยุดยาคุมกำเนิด และให้เวลาธรรมชาติปรับสภาพร่างกาย โดยรอให้มีประจำเดือนอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนตั้งครรภ์ โดยให้คุณพ่อใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิดในช่วงนั้นแทน

หลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยง  ควรดูว่ามีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ตะกั่ว ยาสลบ หรือเอกซเรย์หรือเปล่า เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะแท้ง หรือเป็นอันตรายต่อลูกได้ ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรทำ หรือหากเปลี่ยนงานได้ก็ควรเปลี่ยน

ควบคุมน้ำหนัก  คุณแม่ควรมีน้ำหนักในเกณฑ์มาตรฐานอย่างน้อย 6 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และควรพบแพทย์เพื่อควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่ควรลดน้ำหนักเด็ดขาดในระหว่างตั้งครรภ์

กินอาหารที่มีประโยชน์  กินอาหารในครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และกินผักผลไม้ให้เป็นนิสัย

เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ทั้ง คุณพ่อและคุณแม่ควรเลิกเหล้าและบุหรี่ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ทำให้ความสามารถในการมีลูกลดลง และยังมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

ออกกำลังกายเป็นประจำ  เพื่อให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ควรออกกำลังกายด้วยการเดินหรือว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละ 20 นาที 

๑๐ สัญญาณ บ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ !!!
**หมายเหตุ ผู้หญิงแต่ละคนจะมีสัญญาณบ่งบอกที่แตกต่างกันไป คุณไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณบ่งบอกนี้ครบทุกข้อนะครับ
๑. เต้านมและหัวนมมีการเปลี่ยนแปลง
หากคุณตั้งครรภ์ คุณจะสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเต้านมและหัวนม ซึ่งจะเปราะบาง อ่อนไหว และมีความรู้สึกได้ง่ายขึ้นในระยะ ๓ เดือนแรกของการตั้งครรภ์         (หลังจากที่ประจำเดือนขาดประมาณ ๑ สัปดาห์) หรืออาจเกิดอาการบวมคล้ายๆ กับอาการก่อนเกิดประจำเดือนที่หน้าอกใหญ่ขึ้น
๒. ประจำเดือนน้อยหรือกระปริดกระปอย
หากคุณตั้งครรภ์ ประจำเดือนอาจจะมาน้อยในช่วงที่มีการฝังตัวของไข่ในมดลูก และจะเกิดขึ้นประมาณ ๘-๑๐ วัน ก่อนที่ประจำเดือนปกติจะมา คุณสามารถแยกแยะจากประจำเดือนปกติได้ หากประจำเดือนมาก่อนกำหนด หรือหากประจำเดือนกระปริดกระปอย สีชมพูอ่อน และไม่ได้มาตามขนาดปกติ (ซึ่งอาจจะมามาก)
๓. บริเวณรอบหัวนมคล้ำขึ้น
ในการตั้งครรภ์ เมื่อถึงระยะเวลาที่รอบเดือนควรจะมา คุณจะสังเกตเห็นบริเวณรอบหัวนม (ที่เป็นวง) จะคล้ำขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้ทารกสามารถสังเกตเห็นหัวนมได้ง่ายขึ้นในการดูดนม มารดา และอาจจะยังสังเกตเห็นหลอดเลือดบริเวณรอบๆ เต้านมชัดขึ้น ตุ่มที่บริเวณรอบหัวนมก็จะมีมากขึ้น อาจจะมากถึง ๔-๒๘ ในรอบหัวนมหนึ่งๆ
๔. เหนื่อยง่ายขึ้น
อาการเหนื่อยได้ง่ายนี้จะเกิดขึ้นในระยะ ๘-๑๐ สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เมื่อคุณตั้งครรภ์กระบวนการเผาผลาญพลังงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับการปรับตัวเพื่อให้กำเนิดอีกชีวิตหนึ่ง โดยมากแล้วอาการนี้จะหายไปในสัปดาห์ที่ ๑๒ ครับ
๕. อาการแพ้ท้องและอาเจียน
อาการนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ หลังจากตั้งครรภ์ ซึ่งจะเกิดอาการเวียนศีรษะ อาการนี้มักเป็นอาการที่เข้าใจผิดได้บ่อยๆ ว่าอาจจะไม่ใช่เกิดจากการตั้งครรภ์แต่เป็นเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอหรืออะไรก็ ตามแต่ อาการแพ้ท้องนี้เกิดได้ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน
๖. ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ในระยะที่ประจำเดือนขาด ๑-๒ สัปดาห์คุณก็จะพบว่าคุณปัสสาวะบ่อยขึ้น บ่อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากทารกกำลังเติบโตอยู่ในมดลูกและกดทับกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง
๗. ท้องผูก
คุณจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงของลำไส้ตั้งแต่แรกเริ่มตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบขับถ่ายเปลี่ยน แปลงและมีประสิทธิภาพน้อยลง
๘. อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น
คุณอาจจะยังรู้สึกเป็นปกติดีตราบเท่าที่ระดับอุณหภูมิยังคงอยู่ในช่วงการ ประเมินการ แม้จะผ่านช่วงเวลาของการมีประจำเดือนมาแล้ว และเมื่อคุณตั้งครรภ์ ไข่จะตกจากรังไข่ และใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ในการเดินทางไปถึงมดลูก ซึ่งจะเป็นการไปฝังตัว และในเวลานี้เองที่ร่างกายของคุณจะรู้ได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
๙. ประจำเดือนขาด
นี่อาจเป็นสัญญาณแรก โดยเฉพาะถ้าปกติประจำเดือนคุณมาสม่ำเสมอ เมื่อรวมกับสัญญาณอื่นๆ แล้วคุณก็สามารถคาดเดาได้แล้วว่ากำลังตั้งครรภ์ แม้แต่ก่อนทำการตรวจด้วยซ้ำไป
๑๐. ผลจากการทดสอบการตั้งครรภ์
แม้เพียงประจำเดือนขาดไป ๑ วัน และคุณพร้อมที่จะรับรู้ความจริง ก็สามารถไปซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาทดสอบเองได้ที่บ้าน การทดสอบจากปัสสาวะจะมีความแม่นยำมากขึ้นหากตรวจหลังจากปฏิสนธิได้ ๑๐-๑๔ วัน หากคุณไม่สามารถรอจนถึงกระทั่งช่วงที่ประจำเดือนขาด การตรวจเลือดจะมีความแม่นยำ ในช่วง ๘-๑๐ วันหลังจากปฏิสนธิ และคิดอยู่เสมอว่าไม่มีการทดสอบใดที่ได้ผลถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แม้แต่การตรวจเลือด หากคุณตรวจแล้วมีผลว่าไม่ตั้งครรภ์แต่คุณยังรู้สึกเหมือนกับว่าคุณตั้งครรภ์ ให้ตรวจอีกครั้งหลังจากนั้น ๑ สัปดาห์
    
ขอแสดงยินดีกับคุณแม่ที่ตั้งท้องสมกับความตั้งใจ ท่านอาจจะเกิดอาการบางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางท่านอาจจะกังวลว่าอาการดังกล่าวจะมีผลต่อตัวคุณแม่หรือลูกอาการต่างๆ ทีพบได้มีดังนี้
     - อาการแพ้ท้อง
     - การเปลี่ยนแปลงทางเต้านม
     - อาการปวดหลัง
     - ปัสสาวะบ่อย
     - อาการปวดท้องน้อย
     - อาการปวดศีรษะ
     - ริดสีดวงทวาร
     - อาการจุกเสียดแน่นท้อง
     - นอนไม่หลับ
     - ตะคริว
     - อาการเหนื่อยหอบ
     - การเปลี่ยนผิวหนังในคนท้อง
     - อาการบวมและเส้นเลือดขอด

อาการแพ้ท้อง
มักเป็นกันมากในหญิงมีครรภ์ที่เป็นครรภ์แรก ซึ่งมักจะเป็นในช่วง ๓ เดือนแรก ด้วยความเป็นกังวลที่ทำให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย แปรปรวนและหงุดหงิดค่อนข้างง่าย หากผู้ใดที่อยู่ใกล้ไม่มีความเข้าใจมักเกิดความรำคาญหรือว่ากล่าวอันเป็น เหตุให้คุณแม่มือใหม่เกิดอาการเครียดขึ้นมาได้
    
อาการต่างๆ ที่เป็นกันมากมักมีดังนี้ คลื่นไส้อาเจียนตอนเช้าๆ หรือตอนกลางวัน อ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร ร่างกายซูบซีดอิดโรย ตัวดำ หรือเหลืองซีด น้ำหนักตัวลด อาการนี้สามีอาจมีอาการร่วมด้วย ที่เราเรียกว่า แพ้ท้องแทนเมีย นั่นเอง ซึ่งถ้าปล่อยให้อาการเหล่านี้เป็นมากเป็นบ่อย อาจส่งผลกระทบถึงทารกที่กำลังจะคลอดออกมาตัวอาจเล็กลง และเป็นโรคขาดสารอาหารได้ หรืออาจจะคลอดออกมาก่อนกำหนด อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาเจียนคลื่นไส้มากคือ ร่างกายแม่รับทานอาหารน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ ปฏิกิริยาต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเกิดขึ้นได้
    
ผมมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับสตรีมีครรภ์ดังนี้ นะครับ
     ๑. พยายามอย่าให้ท้องว่าง โดยทานอาหารอยู่เสมอแต่ทานทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ หรือมีลูกอมเปรี้ยวหวานไว้ติดตัวเสมอ
     ๒. ตอนเช้าควรดื่มน้ำนมอุ่นๆ หรือน้ำสุกอุ่นๆ เสมอ
     ๓. ให้ระมัดระวังควบคุมอารมณ์อย่าให้ฟุ้งซ่าน จะเรียกว่า "เอาธรรมะเข้าข่ม" ก็ได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ในท้องของเรายังมีอีกชีวิตหนึ่งสามารถรับรู้ทุกสิ่งอย่างที่แม่ของเขาได้รับ เสมอ
     ๔. ละลายยาหอมสำหรับสตรีมีครรภ์ให้กินเพื่อแก้อาเจียน หรือกินวิตามินบำรุงจำพวกวิตามินรวม วิตามินบี ๑๒ และบี ๑ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์นะครับอันนี้
     ๕. ยาสมุนไพรบำรุงครรภ์ นอกจากยาหอมแล้ว ถ้าอาเจียน ให้ใช้ลูกยอเผาไฟให้สุก (แต่อย่าให้เป็นถ่าน) เอาแช่น้ำให้น้ำออกสีเหลืองๆ เอาเป็นน้ำกระสายละลายยาหอมได้ หรือใช้ดอกบัวหลวงผสมน้ำมะพร้าวอ่อนต้มเพื่อบำรุงครรภ์ได้ หรืออาจจะกินแต่น้ำมะพร้าวอ่อนก็ได้เช่นกัน
    
คุณแม่มากกว่าครึ่งจะมีอาการแพ้ท้อง บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย  คนที่แพ้น้อยๆ อาจมีแค่เหม็นอาหารนิดหน่อยวิงเวียนคลื่นไส้เล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับอาเจียน ส่วนคนที่เป็นมากบางทีแทบต้องนอนกอดชักโครก  โงหัวขึ้นมาทีไรต้องอาเจียนทุกทีบางคนก็เกิดอาการเหม็นน้ำลายตัวเอง กลืนน้ำลายไม่ได้เลย  ไปไหนก็ต้องถือถุง ต้องบ้วนน้ำลายอยู่ตลอดเวลา  น้ำลายของตัวเองแท้ๆ แต่ทำไมดันกลืนไม่ลง
           
อาการแพ้ท้องไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์นะครับ ช่วงแรกหลอกให้ดีใจไปก่อน จะมาเริ่มแพ้เมื่อประจำเดือนขาดหายประมาณ ๒ สัปดาห์ หรือถ้านับแบบหมอซึ่งเริ่มเมื่อประจำเดือนมาวันแรก ก็จะเริ่มแพ้เมื่ออายุครรภ์ ๖ สัปดาห์ แล้วแพ้หนักขึ้นเรื่อยๆ ไปหนักสุดในช่วงสัปดาห์ ๙ หลังจากนั้นจะเริ่มดีวันดีคืนจนหายแพ้ตอนอายุครรภ์ ๑๔ สัปดาห์ แต่ก็มีคุณแม่บางคนนะครับที่แพ้ท้องนิดๆ หน่อยๆ ไปจนคลอด
การดูแลตัวกรณีที่อาการไม่มาก
     - กินอาหารว่างที่มีโปรตีนสูง
     - งดอาหารที่มีไขมันหรือใยอาหารสูง กินอาหารที่มีแป้งสูง
     - ให้กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ
     - ให้กินอาหารบนเตียงตอนตื่นนอนเนื่องจากการเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
     - เลือกกินอาหารที่มีรสดี
     - อย่าให้ท้องว่างเพราะท้องว่างจะทำให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน
     - หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุนๆ
     - งดดื่มน้ำผลไม้ กาแฟ แอลกอฮอล์ระหว่างกินอาหาร
     - ดื่มน้ำขิงอาจจะบรรเทาอาการ อันนี้มีผลงานการวิจัยของฝรั่งเค้าด้วยนะครับ
     - ถ้ามีอาการมากน้ำหนักตัวลดมาก แพทย์จะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ให้น้ำเกลือเพื่อแก้คลื่นไส้อาเจียน
    
ข้อมูลทั้งหมดที่ผม เล่า รวบรวม เรียบเรียงมาให้ได้อ่านกัน น่าจะมีประโยชน์ มากกว่าในการใช้สังเกต ตัวเอง หรือคนรอบข้างที่คุณรัก นะครับ ดีกว่าจะไป สังเกต คนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเรา
    
ให้มองการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เป็นมงคลกว่า การวิพากษ์วิจารณ์ ผู้อื่นในทางเสียหายนะครับ